นายภัทรนันท์ บิโข่ หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) กล่าวว่า ชาวบ้านแม่สายนาเลาเป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และทำไร่เลื่อนลอย ขาดความรู้และทางเลือกในการประกอบอาชีพ ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้มีรายได้พอใช้จ่ายในครัวเรือน จึงมีการขยายขอบเขตการทำไร่ไปเรื่อยๆเนื่องด้วยไม่รู้ขอบเขตทำกินที่ชัดเจน ทำให้มีปัญหากับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ต่อมา สวพส.ได้นำวิธีการการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงมาใช้ร่วมกับแผนที่ของอุทยานแห่งชาติ ให้เป็นแผนที่ผืนเดียวและปักหมุด GPS ที่ชัดเจน กำหนดขอบเขตแบ่งแยกพื้นที่ป่า ที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานทุกขั้นตอน ทุกภาคส่วนให้การยอมรับในแผนที่รายแปลงฉบับเดียว ทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกับชาวบ้าน
จากนั้น สวพส. ได้นําต้นแบบการปรับระบบการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนํานวัตกรรมจากงานวิจัยปรับวิธีการปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว ขยายผลสู่พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด อําเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และต่อยอดงานส่งเสริมและพัฒนาสู่หมู่บ้านแม่สายนาเลา ซึ่งมีประชากร 53 ครัวเรือน 222 คน ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอดทั้งหมด โดยส่งเสริมปลูกพืชไม้ยืนต้น และปลูกไม้ดอกส่งขายให้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย ในปีพ.ศ. 2566 เกษตรกรมีรายได้รวมประมาณ 3.97 ล้านบาท/ปี เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ลดการเผาพื้นที่เกษตรทั้งในส่วนการจัดเตรียมพื้นที่ปลูกและการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้
นายครรชิต ปันลัดโทน เกษตรกรผู้นำในพื้นที่บ้านแม่สายนาเลา โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด กล่าวว่า จากหมู่บ้านที่มีปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่ถูกต้อง การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทําการเกษตรเชิงเดี่ยว ปัญหาฝุ่นควันจากการเผาเตรียมพื้นที่เกษตรและการเผาเศษวัสดุจากการเกษตร จนเกิดเป็นชุมชนตัวอย่างที่ปัจจุบันเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 100% เป็นพื้นที่ที่ปลูกไม้ผลและพืชผัก 100% ได้นํารูปแบบการปรับระบบการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ด้วยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและใช้ข้อมูลสารสนเทศจาก “แผนที่ดินรายแปลง” ที่มีรายละเอียดข้อมูลในระดับรายคน ระดับรายแปลง และระดับชุมชน เป็นเครื่องมือให้สามารถเข้าถึงข้อมูลชุมชนเชิงพื้นที่ได้ง่าย สามารถกําหนดขอบเขตพื้นที่ทําการเกษตรให้อยู่ภายใต้การใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่ม มีการบริหารจัดการเศษวัสดุเกษตรโดยไม่เผา ลดการเกิดจุด Hotspot ในพื้นที่ กลายเป็นตัวอย่างในการขยายผลไปยังหมู่บ้านข้างเคียง รวมทั้งยังได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดการเผา 2 ปีซ้อน ในปีพ.ศ.2565 และปี พ.ศ.2567 จากหน่วยงานภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่
No comments:
Post a Comment