พช. เดินหน้าพัฒนามาตรฐานสถาบันส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญา (OTOP Academy) ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย - ที่นี่ สุขภาพดี | Healthy Station

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, August 21, 2024

พช. เดินหน้าพัฒนามาตรฐานสถาบันส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญา (OTOP Academy) ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย


วันพุธที่  21  สิงหาคม  2567 

นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย 

เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และพัฒนามาตรฐานสถาบันส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญา (OTOP Academy) โดยมีนายไพโรจน์ โสภาพร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงาน ในการนี้ นางทัศนีย์ ชัยคุณแสง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม คณะผู้บริหาร พช. คณะวิทยากร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีด้วย ณ ห้องประชุมวายุภักดิ์ 6 ชั้น 5  โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร





นายสยาม ศิริมงคล กล่าวว่า จากการจัดงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น งาน OTOP City , OTOP Midyear , ศิลปาชีพ ประทีบไทย OTOP หลอมดวงใจ ด้วยพระบารมี คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย นำโดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเกรียง กัลป์ตินันท์ ได้ให้ความสนใจในการพัฒนาสินค้า OTOP ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้ยังมีอดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนหลายท่าน เช่น นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาได้มาเยี่ยมชมงานเพื่อเลือกซื้อสินค้า OTOP เพื่อจัดทำเป็นของที่ระลึกให้กับแขกที่มาเยือน ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ดังนั้นการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมและพัฒนาผ่านโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)  ภายใต้แนวคิดการนำทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาสินค้า โดยหน่วยงานรัฐพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งการพัฒนาสินค้า OTOP ในปัจจุบันมีหน่วยงาน   ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แม้แต่สถาบันการศึกษา มีส่วนช่วยอย่างมาก ในการช่วยเหลือผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP พัฒนาสินค้าจนมีคุณภาพ มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งวัดได้จากการจัดงาน Event ต่าง ๆ เช่น การจัดงาน OTOP City , OTOP Midyear , ศิลปาชีพ ประทีบไทย OTOP หลอมดวงใจ ด้วยพระบารมี เป็นต้น มียอดจำหน่าย ในปัจจุบันทั้งในช่องทาง Off Line และ On Line จำนวน 26,185,745,886 บาท (สองหมื่นหกพันหนึ่งร้อยแปดสิบห้าล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นห้าพันแปดร้อยแปดสิบหกบาทถ้วน)               ซึ่งความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาตนเองของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้วย จนกระทั่งกรมการพัฒนาชุมชน เห็นว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีศูนย์กลางในการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ เพื่อให้ผู้มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่น สืบทอด และถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ต้องการพัฒนาตนเองและพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำความรู้ไปปรับใช้ให้สินค้า OTOP มีคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์กรมการพัฒนาชุมชน “เศรษฐกิจ ฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง อย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”การประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและพัฒนามาตรฐานสถาบันส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญา (OTOP Academy) 







ในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและชุมชน และเพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการใช้หลักสูตรของสถาบันส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญา (OTOP Academy) ในการพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย วิทยากรจากสถาบันส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญา (OTOP Academy) คณะกรรมการเครือข่าย OTOP ประเทศ และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด  ทุกจังหวัด รวม 136 คน และได้รับการสนับสนุนวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ดร.ญาณวิธ นราแย้ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะวันแค้ม มาร์เก็ตติ้ง จำกัด  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วีรบูรณ์ วิสารทสกุล คณบดีวิทยาลัยพัฒนาศาสตร์  ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติธร ภูริภักดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 
และนางสาวอัจฉรา ภูทัน กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยี่สิบดี 




   ทั้งนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญา (OTOP Academy) ขึ้น จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์จำหน่าย OTOP พุแค จังหวัดสระบุรี ศูนย์เรียนรู้กลุ่มจักสาน บางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง  ศูนย์เรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเขากลาง จังหวัดพัทลุง  ศูนย์เรียนรู้กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จังหวัดขอนแก่น ศูนย์ OTOP ข่วงสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่  ศูนย์กระจายสินค้าและนวัตกรรมเกษตรปลอดภัย จังหวัดน่าน  ศูนย์ OTOP OUTLET จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ผู้มีประสบการณ์ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีผลิตภัณฑ์โดดเด่น มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดรูปแบบการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มอาชีพ หรือผู้สนใจ


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad



Pages